เครื่องอัดลม อัดอากาศให้มีความดันสูงขึ้น

เครื่องอัดลม
เครื่องอัดลม ทำหน้าที่อัดอากาศ จากความดันอากาศปกติ 14.7 ปอนด์/ตารางนิ้ว (ความดันบรรยากาศ) ที่ถูกดูดเข้าทางท่อดูด อัดให้อากาศนั้นมีปริมาตรเล็กลงความดันสูงขึ้นตามความต้องการ แล้วอากาศอัด (Compressors Air) จะถูกส่งถ่ายไปตามท่อที่ต่อไว้ใช้งาน
อากาศอัดซึ่งนิยมใช้อย่างกว้างขวาง และแพร่หลาย คือ
1. ประหยัดแรงงาน
2. มีความปลอดภัยสูง ทนต่อการระเบิด และปลอดภัยจากงานเกินกำลัง
3. มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสะดวก สามารถควบคุมอัตราความเร็ว และควบคุมความดันได้ง่ายโดยใช้วาวล์
4. การส่งถ่ายอากาศอัดเป็นไปได้ง่ายสะดวก
5. ความทนทานของเครื่องมือสูงกว่าเครื่องมือทางไฟฟ้า
6. การเก็บรักษาง่าย ซึ่งสามารถเก็บได้ในถังเก็บอากาศ
7. ไม่ต้องใช้ท่ออากาศกลับ โดยอากาศอัดที่ใช้แล้วสามารถปล่อยสู่บรรยากาศได้เลย

เครื่องอัดลม จะประกอบด้วย

1. เครื่องอัดอากาศ (Air Compressors) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ก็ได้
2. ตัวควบคุมแรงดัน (Regulator)
3. ท่อดูดและไส้กรองอากาศดูด
4. ตัวระบายความร้อนหลังจากอากาศอัด
5. ถังบรรจุอากาศ
6. ท่อจ่ายอากาศอัดไปตามจุดต่างๆ
7. ลิ้นระบายความดันเกิน
8. ลิ้นระบายน้ำออก
9. เกจวัดความดัน

เครื่องอัดลมแบ่งออกได้หลายชนิดดังนี้

1. เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ (Piston compressors)
2. เครื่องอัดอากาศแบบไดอะแฟรม (Diaphragm Compressor)
3. เครื่องอัดอากาศแบบแผ่นเวน (Rotary Vane Compressor)
4. เครื่องอัดอากาศแบบใบพัดสกรู (Screw Compressor)
5. เครื่องอัดอากาศแบบใบพัดหมุน (Root Compressor)
6. เครื่องอัดอากาศแบบกังหัน (Turbo Compressor)
1. เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ (Piston compressors)
เครื่องอัดลมแบบลูกสูบ ในปัจจุบันนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะเครื่องอัดลมแบบนี้เหมาะสำหรับการใช้ความดันต่ำ ความดันปานกลาง และความดันสูง ซึ่งสามารถแบ่งเครื่องอัดลมแบบลูกสูบออกได้ดังนี้
1.1 เครื่องอัดลมลูกสูบแบบอัดครั้งเดียว (Single Stage Air Compressor) เป็นเครื่องอัดลม ซึ่งอาจมีสูบเดียว ในการทำงานอัดอากาศอัดเพียงครั้งเดียวต่อการหมุนของเพลาข้อเหวี่ยง 1 ครั้ง โดยเมื่อลูกสูบเลื่อนลงจะเป็นจังหวะดูด เมื่อลูกสูบเลื่อนขึ้นจะเป็นจังหวะอัด อากาศอัดจะผ่านวาวล์อัดถูกส่งไปเก็บไว้ที่ถังลมเพื่อนำไปใช้งานต่อไป ส่วนอากาศที่ถูกดูดเข้าเครื่องอัดลมจะต้องผ่านไส้กรองอากาศและผ่านวาวล์ดูด (ทั้งวาวล์อัดและวาวล์ดูดจะต้องปิดเปิดตามจังหวะของตน) เครื่องอัดลมลูกสูบแบบอัดครั้งเดียวจะหล่อเย็นด้วยอากาศ
การขับ เครื่องอัดลมลูกสูบแบบอัดครั้งเดียว ต้องใช้พลังงานขับจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ โดยขับตรงเข้ากับเพลาข้อเหวี่ยง ซึ่งเพลาข้อเหวี่ยงหมุนทำให้ลูกสูบเลื่อนขึ้นลงได้

1.2 เครื่องอัดลมลูกสูบแบบอัด 2 ครั้ง
เป็นเครื่องอัดอากาศแบบที่มี 2 สูบ หรือมากกว่าสูบหนึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่าอีกสูบหนึ่ง สูบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางโตเป็นการอัดอากาศด้านความกดดันต่ำ สูบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กเป็นการอัดอากาศด้านความกดดันสูง ในการทำงานของเครื่องอัดอากาศลูกสูบแบบอัด 2 ครั้ง อากาศที่ถูกดูดเข้าสูบทางความกดดันต่ำ แล้วอัดให้มีความกดดันประมาณ 45 ปอนด์/ตารางนิ้ว อากาศอัดความกดดันต่ำนี้ จะผ่านเข้าหล่อเย็นก่อนให้อุณหภูมิเย็นลงแต่ความกดดันเกือบเท่าเดิม แล้วเข้าไปบรรจุในกระบอกสูบด้านความกดดันสูง แล้วอัดด้วยอัตราอัดใหม่ เช่นความกดดันขั้นสุดท้ายมีความกดดันสูงกว่า 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แล้วผ่านการหล่อเย็นส่งอากาศอัดเข้าถังเก็บต่อไป
เครื่องอัดอากาศลูกสูบแบบอัด 2 ครั้ง จะให้ความกดดัน 140-175 ปอนด์ต่อตารางนิ้วเหมาะสำหรับ เครื่องพ่นสี อู่รถยนต์ เพื่องานนิวแมติค เช่น เครื่องเจาะถนน เจาะหิน เครื่องอัดทรายหล่อ ตลอดจนระบบนิวแมติคในโรงงานเป็นต้น

2. เครื่องอัดอากาศแบบไดอะแฟรม (Diaphragm Compressor)
เครื่องอัดอากาศแบบไดอะแฟรม จัดอยู่ในประเภทเครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ แต่ห้องอัดอากาศกับลูกสูบถูกขั้นด้วยแผ่นไดอะแฟรม การทำงานเมื่อลูกสูบเลื่อนลงอากาศจะผ่านท่อดูดเข้าทางวาวล์ดูดบรรจุในห้องอัดอากาศ เมื่อลูกสูบเลื่อนขึ้นแผ่นไดอะแฟรมก็จะอัดอากาศ อากาศอัดจะถูกส่งผ่านวาวล์อัดเข้ายังถังลมต่อไป ดังนั้นอากาศอัดประเภทนี้จะสะอาดปราศจากน้ำมัน ดังนั้นเครื่องอัดอากาศแบบไดอะแฟรมจึงเหมาะสำหรับใช้ในโรงงานประเภท เคมีภัณฑ์ ยารักษาโรค และผลิตอาหาร

3. เครื่องอัดอากาศแบบแผ่นเวน (Rotary Vane Compresser)
เครื่องอัดอากาศแบบแผ่นเวน ตัวแผ่นเวนจะติดอยู่กับล้อตัวหมุน (Rotor) และวางเยื้องศูนย์กับเรือนสูบ เมื่อชุดล้อตัวหมุนเริ่มทำงานแผ่นเวนสามารถแล่นเข้าออกรักษาความสัมผัสกับผิวเรือนสูบได้ตลอดเวลา โดยเลื่อนขึ้นลงในร่องของล้อตัวหมุน อากาศจากท่อดูดจะไปเต็มช่องเวนแต่ละช่องจนเต็ม เมื่อช่องเวนหมุนไปข้างหน้า ปริมาตรอากาศถูกอัดเล็กลงจนกระทั่งหมุนไปถึงท่อปล่อย อากาศอัดจะส่งไปใช้งาน
เครื่องอัดอากาศแบบนี้ จะไม่มีวาวล์ดูด วาวล์อัด ล้อหมุนจึงหมุนด้วยความเร็วสูง เครื่องอัดอากาศจึงมีขนาดเล็กไม่มีเสียงดัง และสามารถผลิตส่งอากาศอัดได้ในอัตราการไหลสม่ำเสมอไม่ขาดเป็นห้วงๆ เหมือนแบบลูกสูบ ความกดดันของอากาศอัดแบบแผ่นเวนค่อนข้างต่ำกว่าแบบลูกสูบ

4. เครื่องอัดอากาศแบบสกรู (Screw Compressor)
เป็นเครื่องอัดอากาศชนิดมีเพลาสกรูสองเพลาหมุนขบกัน เพลาสกรูตัวหนึ่งมีสกรูเพลาตัวผู้สันฟันนูนและมีเกลียว 3-4 เกลียว เพลาสกรูอีกตัวหนึ่งมีสกรูเพลาตัวเมียมีสันฟันเว้าเป็นร่องเกลียว 4-5 ร่อง สกรูทั้ง 2 จะประกอบอยู่ภายในเรือนเดียววางขบกันมีทิศทางการหมุนเข้าหากัน เพลาสกรูตัวผู้จะหมุนเร็วกว่าเพลาสกรูตัวเมียสามารถดูดอากาศจากด้านหนึ่ง ค่อยๆ หมุนไล่อากาศอัดออกไปทางด้านหนึ่งได้ และสามารถอัดอากาศให้มีความกดดันสูง

5. เครื่องอัดอากาศแบบใบพัดหมุน (Root Compressor)
เครื่องอัดอากาศแบบใบพัดหมุน ลักษณะคล้ายกับเกียรปั้ม โดยมีใบพัดหมุน 2 ตัวขบกัน ปลายข้างหนึ่งของใบพัดหมุนจะสัมผัสกับเรือนเครื่อง อากาศจะถูกดูดจากด้านหนึ่งโดยไม่เปลี่ยนแปลงปริมาตรซึ่งจะรีดและอัดอากาศขณะที่ใบพัดหมุนไป